การแพทย์แผนไทย เป็นการดูแลสุขภาพทั้งสภาวะปกติ และสภาวะที่ผิดปกติหรือเป็นโรค โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกายและกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) หลักวิชาการของวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นำมาใช้อธิบาย ตามหลักวิชาการเวชปฏิบัติ
องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการสะสมประสบการณ์ในการักษาโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยพิจารณาว่าจิตใจและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์มีการทำงานที่สัมพันธ์และเป็นหนึ่งเดียว และยังสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงจักรวาล การแก้ปัญหาสุขภาพจึงใช้วิธีแบบองค์รวม (Holistic) ดังนั้น จึงเกี่ยวข้องกับปรัชญาความคิดที่ครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีชีวิตคนไทย
ความเป็นมาของการแพทย์แผนไทย
เชื่อกันว่าการแพทย์แผนไทยมีต้นกำเนิดมาจากการแพทย์แบบอายุรเวทของอินเดีย โดยผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยทุกคนจะเคารพและยกย่องให้ท่านชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์อินเดียซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบรมครูด้านการแพทย์แผนไทย
ในสมัยพุทธกาลครูแพทย์เล่าสืบต่อกันมาว่า หมอชีวก ได้ร่ำเรียนวิชาแพทย์ที่เมืองตักศิลา เมื่อเรียนจบ ได้ใช้วิชาแพทย์ช่วยเหลือรักษาผู้เจ็บป่วยจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ยอมรับ และที่สำคัญท่านเป็นแพทย์ประจำตัวถวายการรักษาให้กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในราวปี พ.ศ. ๒๗๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณะทูตออกเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเถรวาท ไปยังดินแดนต่างๆ ๙ สาย สายหนึ่งมีพระโสณะและพระอุตระไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ เชื่อกันว่าในคณะสมณะฑูตต้องมีคณะแพทย์เดินทางร่วมมาด้วย การแพทย์อินเดียจึงเริ่มเข้ามาสู่สุวรรณภูมิพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและได้ผสมกลมกลืนกับการแพทย์พื้นบ้านแบบดั้งเดิมของไทย และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สถานประกอบการแพทย์แผนไทยพัฒนา
เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพในการบริการของแพทย์แผนไทย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และสมาพันธ์การแพทย์แผนไทย ได้กำหนดให้มีการประเมินคุณภาพการบริการแพทย์แผนไทยเอกชน พ.ศ.2559 โดยกำหนดเกณฑ์ประเมินคุณภาพ ประกอบไปด้วย เกณฑ์ด้านสถานที่ ด้านบุคลากร ด้านการวินิจฉัยและการติดตามประเมินผล และด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน